ดอกไม้มงคลที่คนรู้จักกันดีคงหนีไม่พ้น ‘ดอกบัว’ ที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จักเป็นแน่ ดอกบัวไม่ได้มีเพียงคุณประโยชน์ในรูปแบบนามธรรมเท่านั้น หากแต่ยังมีประโยชน์แบบรูปธรรม ใช้ได้จริง ทานได้จริงอีกด้วย
วันนี้ GREAT FLOWER STUDIO จึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับดอกบัวให้มากยิ่งขึ้น ดอกไม้สวยเติบโตในน้ำที่ไม่ได้มีเพียงความสวยงามเท่านั้น หากแต่ยังมีประโยชน์มหาศาล
ดอกบัว
ดอกบัว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera เป็นพืชน้ำที่มีการปลูกในหลายส่วนของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย บัวเติบโตได้ดีในน้ำซึ่งมีดินเหนียวอยู่ข้างใต้ มีรูปทรงคล้ายชาม และมีกลีบล้อมรอบ อาจจะมีสีขาว สีชมพู สีแดง หรือสีน้ำเงิน แล้วแต่ชนิด และมีใบสีเขียว
บัวเป็นดอกไม้มงคลที่ชาวพุทธนิยมใช้สักการะบูพระพุทธรูปและพระสงฆ์ เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของอายุยืน ความบริสุทธิ์ และความงาม เรียกได้ว่าเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ ดอกไม้ชนิดนี้ยังถูกนิยมใช้ในการประกอบอาหาร ผู้คนมักใส่ลำต้นและรากลงในซุปหรือผัด ส่วนใบ ดอก และเมล็ด ก็นำไปประกอบอาหารรูปแบบอื่น ๆ และยังมีการใช้และสกัดบางส่วนเพื่อทำเป็นยาแผนโบราณมาเป็นเวลาหลายพันปีด้วย
5 คุณประโยชน์ที่สำคัญของดอกบัว
1. ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
อนุมูลอิสระคือโมเลกุลปฏิกิริยาที่หากสร้างขึ้นในร่างกายแล้วจะทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งทำลายเซลล์และก่อให้เกิดการพัฒนาของโรคต่าง ๆ มากมาย
ต้นบัวมีสารประกอบฟลาโวนอยด์และอัลคาลอยด์จำนวนมาก มีความเข้มข้นมากที่สุดในเมล็ด ใบ กลีบดอก และเกสรตัวผู้ ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังอาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ยับยั้งเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และป้องกันความเสียหายของตับได้
2. ลดการอักเสบ
การอักเสบเรื้อรังอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อในระยะยาว การสัมผัสกับสารที่เป็นอันตราย การรับประทานอาหารที่ไม่ดีไม่สะอาดหรือถูกหลักอนามัย การสูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย เมื่อเวลาผ่านไป การอักเสบสามารถทำลายเนื้อเยื่อและนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น หลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ มะเร็ง และเบาหวาน
จากการวิจัยและทดลองแสดงให้เห็นว่าสารประกอบบางชนิดในดอกบัว เช่น เควอซิตินและคาเทชิน สารสกัดจากใบและเมล็ดบัว อาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาการอักเสบเหล่านี้ได้
3. เป็นสารต้านแบคทีเรีย
จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบบัวสามารถต่อสู้กับแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้ จึงสามารถใช้เป็นส่วนผสมในยาสีฟันและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในช่องปากอื่น ๆ ได้
4. มีส่วนช่วยลดน้ำตาลในเลือด
ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย
จากการทำการศึกษากับกระต่าย พบว่าสารสกัดจากใบบัวช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ายารักษาโรคเบาหวานมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจากหนู พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากเมล็ดบัวมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และหนูที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ พบว่าโพลีแซ็กคาไรด์ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งจากใบบัวช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารได้
5. ใช้ประกอบอาหารได้หลากหลาย
ด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพที่หลากหลายของบัว ทำให้เป็นพืชอีกชนิดที่นิยมนำมาประกอบอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
มีนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามเพิ่มผงก้านบัวในไส้กรอกเพื่อเพิ่มปริมาณเส้นใยและสารต้านอนุมูลอิสระโดยไม่ลดคุณภาพหรือรสชาติของมัน รวมทั้งมีการใช้แป้งเมล็ดบัวแทนข้าวสาลีในคุกกี้ เพื่อเพิ่มคุณประโยชน์และส่งเสริมสุขภาพ โดยได้รับการตอบรับอย่างดี
การรับประทานดอกบัวในปริมาณปกติที่ใช้ในอาหาร ถือว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การรับประทานบัวในรูปแบบผงและสารสกัดอื่น ๆ ก็ยังถือว่าเป็นยาชนิดหนึ่ง ดังนั้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด